ประวัติและความเป็นมาของ อ.บ.ท.ท.
องค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (อ.บ.ท.ท.) ถือกำเนิดเมื่อ พ.ศ. 2526 โดยความคิดเห็นร่วมกันของคณบดี และรักษาการคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ ทั้ง 5 มหาวิทยาลัย คือ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หลังจากที่ได้ปรึกษาหารือกัน ในระหว่างการประชุมสัมมนา เรื่อง "การพัฒนาการเรียนการสอนและประเมินผลของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่" เมื่อวันที่ 24 - 25 ตุลาคม พ.ศ. 2526 ณ เอราวัณรีสอร์ท จังหวัดเชียงใหม่ ในระยะแรกเริ่มนั้นมีความเห็นร่วมกันว่าควรจะมีการประชุมร่วมกันระหว่างฝ่ายผู้บริหาร และหัวหน้าภาควิชาของคณะทันตแพทยศาสตร์ทั้ง 5 มหาวิทยาลัย ปีละ 1 ครั้ง และให้คณะทันตแพทยศาสตร์ แต่ละแห่งหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม โดยมีวัตถุประสงค์ในการกำหนดรูปแบบแนวทางการพัฒนาทางวิชาการในสาขาทันตแพทยศาสตร์ และเปิดโอกาสให้ผู้บริหารได้ทำความรู้จัก และเชื่อมสัมพันธ์ไมตรีต่อกัน
ต่อจากนั้น ได้มีการนัดหมายประชุมครั้งแรก โดยใช้ชื่อที่ประชุมว่า "ที่ประชุมผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย" เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2526 โดยมีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเจ้าภาพ เพื่อกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และแนวทางการดำเนินการต่อไป โดยมีองค์ประกอบของผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วยคณบดี รองคณบดี ผู้ช่วยคณบดี ของคณะทันตแพทยศาสตร์ทั้ง 5 มหาวิทยาลัย และนายกทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป้าหมายสำคัญใน การประชุมครั้งแรกนี้ คือ "โครงการจัดตั้งสมาคมโรงเรียนทันตแพทยศาสตร์"
ในการประชุมครั้งที่ 2 ณ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และในการประชุมครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2527 ณ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินการ ซึ่งในที่สุด นำไปสู่การจัดตั้งองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย นับแต่นั้นมา ก็ได้มีการประชุมต่อเนื่องกันอย่างสม่ำเสมอประมาณ 1-2 เดือนต่อครั้ง โดยคณะทันตแพทยศาสตร์ ทั้ง 5 มหาวิทยาลัย หมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพและประธานในการประชุม
ต่อมา ได้มีการเสนอเรื่อง"การดำเนินงานของที่ประชุมผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย "ให้ทบวงมหาวิทยาลัยทราบ และรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยในขณะนั้น คือ นายปรีดา พัฒนถาบุตร ได้ให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย
ที่ประชุมผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ และได้ใช้ชื่อว่า "องค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย" โดยมีชื่อย่อว่า "อ.บ.ท.ท." และใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า "Thai Dental Faculties Board" (T.D.F.B.) มีการกำหนดระเบียบ การปรับองค์ประกอบของคณะกรรมการ และการปรับโครงการดำเนินงานไว้ชัดเจน มีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อ ส่วนรวมสม่ำเสมอ โดยความร่วมมือของคณะทันตแพทยศาสตร์ต่างๆ ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ทันตแพทยสภา หน่วยงานด้านทันตกรรมต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร ในการประชุมองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยครั้งที่ 7 พ.ศ.2550 ได้มีการเปลี่ยนชื่อขององค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยในส่วนภาษาอังกฤษ เป็น “Dental Faculty Consortium of Thailand” (D.F.C.T.)
ปัจจุบันนี้ มีคณะทันตแพทยศาสตร์ 8 มหาวิทยาลัยได้หมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพและประธานในการประชุม โดยการประชุมครบ 8 แห่งในรอบ 1 ปี โดยมีการจัดทำตารางการประชุมตามสถานที่ในคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ
การรวมตัวของกลุ่มผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์ เป็นองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย แม้ไม่ใช่องค์กรที่เป็นส่วนราชการ แต่ก็เป็นที่รับทราบและยอมรับกันในวงวิชาชีพทันตแพทยศาสตร์และทบวงมหาวิทยาลัย
การพัฒนาของวิชาชีพทันตแพทยศาสตร์ในอนาคตจะสำเร็จผลได้มากน้อยเพียงใด ย่อมต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจ และเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของมวลสมาชิกในวงวิชาชีพทันตแพทยศาสตร์ ในอันที่จะสานต่อกิจกรรมและงานต่างๆ ที่องค์กร ผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยได้เริ่มไว้แล้ว ให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้
ในปัจจุบันองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้มีความร่วมมือกับองค์กรวิชาชีพทันตแพทย์มากขึ้นเป็นลำดับทั้งในส่วนของ ทันตแพทยสภา ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอื่นๆที่มีทันตแพทย์สังกัดอยู่ รวมทั้งได้ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการโรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุข ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อ
- สนับสนุนกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่ยั่งยืนในคณะทันตแพทยศาสตร์ทั้ง 8 สถาบัน เพื่อให้เกิดการสร้างเสริมสุขภาพที่มีบุคลากรคณะทันตแพทยศาสตร์เป็นแกนนำในด้านต่อไปนี้
- ด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
- ด้านจัดการสิ่งแวดล้อมให้เกิดการสร้างเสริมสุขภาพ
- ด้านบริหารจัดการองค์กรในด้านการสร้างเสริมสุขภาพ
- ด้านการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการสร้างเสริมสุขภาพ
- ด้านการพัฒนาหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ให้สอดคล้องกับแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพ
- ด้านการศึกษาวิจัย
- สร้างและพัฒนาเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพที่ยั่งยืนระหว่างคณะทันตแพทยศาสตร์ทั้ง 8 สถาบัน และระหว่าง คณะทันตแพทยศาสตร์กับวิชาชีพสาธารณสุขอื่น
โดยหวังว่าโครงการโรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุขนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาการทั้งด้านความคิดจิตใจ และความร่วมมือร่วมใจของคณาจารย์ นักศึกษา บุคลากรทุกฝ่ายในคณะและองค์กรวิชาชีพทันตแพทย์ เพื่อพัฒนาให้วิชาชีพทันตแพทย์ก้าวหน้าไปสู่ระดับสากล และเป็นที่ยอมรับของประชาชนชาวไทยทั่วประเทศต่อไป
องค์ประกอบของ องค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย
ตามระเบียบองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2550 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นศูนย์กลางของคณะต่างๆ พร้อมทั้งร่วมมือ ประสานงาน และดำเนินการด้านวิชาการ บริหารการศึกษา และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคณะ และวิชาชีพ สมาชิก อ.บ.ท.ท. ประกอบด้วย คณะกรรมการประจำคณะทุกคณะฯ อดีตคณบดีทุกคณะฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ เลขาธิการ และผู้ช่วยเลขาธิการ การดำเนินงานของ อ.บ.ท.ท. ประกอบด้วย
- ที่ประชุมคณบดี ประกอบด้วย คณบดีทุกคณะ
- ที่ประชุมคณะกรรมการ ประกอบด้วย
- คณบดีทุกคณะ
- กรรมการจากตัวแทนของผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะละ 1 คน
- กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย
- (ก) นายกทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
- (ข) นายกทันตแพทยสภา
- (ค) ประธานราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย
- (ง) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยการแต่งตั้งจากที่ประชุมคณบดีจำนวนไม่เกิน ครึ่งหนึ่งของคณะกรรมการจากจำนวนคณบดีทุกคณะและจากจำนวนกรรมการ จากตัวแทนของผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะละ 1 คน รวมกัน
- เลขาธิการ
- ผู้ช่วยเลขาธิการ (ถ้ามี)
- ที่ประชุมคณะอนุกรรมการประจำ ซึ่งมี 3 ชุด ประกอบด้วย
- คณะอนุกรรมการวิชาการ และวิจัยทันตแพทยศาสตร์
- คณะอนุกรรมการหลักสูตรและทันตแพทยศาสตร์ศึกษา
- คณะอนุกรรมการบริหารและพัฒนา
- บุคคลที่คณะกรรมการมีมติให้ดำรงตำแหน่งประธานอนุกรรมการ
- ผู้แทนของคณะแห่งละ 1 คน
- ผู้แทนจากคณะกรรมการ 1 คน
- กรรมการหรือที่ปรึกษาที่ประธานคณะอนุกรรมการแต่งตั้ง
- ที่ประชุมสมาชิก อ.บ.ท.ท. ประกอบด้วย
- ผู้บริหารของแต่ละคณะ
- อดีตคณบดี
- ผู้ทรงคุณวุฒิ
- เลขาธิการ
- ผู้ช่วยเลขาธิการ (ถ้ามี)